เปิดความในใจศิลปิน LGBTQ+ จากนิทรรศการ Pride Families “ครอบครัวคืออะไร ใครนิยาม” ตอบโจทย์สังคมที่หลากหลายแต่ไม่แตกต่าง

ท่ามกลางความหลากหลายในสังคมที่ไม่ได้เป็นความแตกต่าง เพราะยังมีพื้นที่ของกลุ่มคนที่มีความรักความชอบแบบเดียวกัน และพื้นที่นั้นมี “ศิลปะ” เป็นตัวเชื่อมโยงคนกลุ่มเหล่านี้เข้าด้วยกัน ที่พวกเขาสามารถบอกเล่าเรื่องราวและตัวตนของศิลปินในโอกาสการฉลองเทศกาล Pride Month ด้วยนิทรรศการ Pride Families นิทรรศการงานศิลปะที่จัดแสดง ณ ห้อง New Gen Space: Space For All Generations โดยมูลนิธิเอสซีจี ชั้น 3  หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร โดยเป็นผลงานจากกลุ่มศิลปิน LGBTQ+ รวม 7 ท่าน ได้แก่ คุณฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร, คุณชญานิษฐ์ ม่วงไทย, คุณโอ๊ต มณเฑียร, คุณนรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์, คุณณภัทร แก้วมณี, คุณกฤตเมธ สีถาน และ คุณพรรณพฤกษา คงผลาญ ที่ร่วมกันนำเสนอมุมมองความสัมพันธ์ที่เรียกว่า “ครอบครัว” ผ่านสื่อศิลปะหลากหลายรูปแบบและความในใจ ในมุมมองของศิลปินเจ้าของงานศิลปะนั้นว่า ครอบครัวคืออะไร ใครเป็นคนนิยาม

ฑีฆวุฒิ บุญวิจิตร ศิลปินเจ้าของรางวัลดีเด่น สาขาศิลปะ 2 มิติ โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย โดย มูลนิธิเอสซีจี ประจำปี 2006 กล่าวว่าความคาดหวังเรื่องครอบครัวที่มองไม่เห็นอนาคตความรักของตนเอง คิดว่าคงไม่ได้แต่งงาน ไม่มีลูก แล้วจะอยู่อย่างไรในอนาคต ความรักจะไปได้ไกลแค่ไหน เพราะไม่มีพันธนาการอะไรเลย ความหวังความกลัวและความเปราะบางในจิตใจ จึงสะท้อนผ่านภาพวิดิโอเป็นมายาภาพมาจัดแสดง  

บอล นรภัทร ศักดิ์อาธรทรัพย์ ศิลปิน LGBTQ+ เจ้าของรางวัลดีเด่น สาขาภาพถ่าย โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย โดย มูลนิธิเอสซีจี ประจำปี 2016 ผู้มองว่าครอบครัวไม่ใช่แค่เฉพาะความเป็นสายเลือด แต่เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับคนที่อยู่รอบตัวเรา ซึ่งเกิดจากความผิดหวังของเรื่องราวในอดีตเมื่อเขายอมเปิดเผยตัวตนแล้วผู้คนรอบข้างกลับนำเรื่องของเขาไปพูดคุยอย่างสนุกปาก แต่เมื่อได้พบเพื่อนที่ไม่เคยรู้ว่าเขาเป็นคนอย่างไร กลับรู้สึกสบายใจและรู้สึกไว้ใจที่จะบอกความจริงออกไป เพราะเชื่อว่านี้คือพื้นที่ที่สามารถเปิดเผยความรู้สึกในใจได้ และกลายเป็นชิ้นงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการนี้

ณภัทร แก้วมณี เจ้าของผลงานแสดงรวม 4 ชิ้นเล่าว่า แนวคิดของการนำเสนองานสองชิ้นแรก เป็นภาพเด็กตุ๊กตาเซรามิก และภาพพระโพธิสัตว์ที่ไม่ระบุเพศ เพราะมองว่าหากสละเรื่องเพศก็สามารถก้าวขึ้นไปสู่สิ่งที่สูงส่งกว่าหรือศิลปะขั้นสูงกว่า เพราะบางครั้งความงามก็ไม่ได้อาศัยเพศ ส่วนอีกสองชิ้นงานเป็นความตั้งใจของศิลปินที่อยากใช้ข้อความที่ให้ความรู้สึกถึงความแหกคอกหรือเป็นกบฎกับเรื่องราวของการต้องอยู่ในกรอบและความต้องการออกนอกกรอบนั้น

ชญานิษฐ์  ม่วงไทย เจ้าของงานพิมพ์รูปแมวเล่าว่า เธอคัดงานธีมครอบครัวมาแสดง ซึ่งตัวเองนั้นมองว่าแมวเป็นครอบครัวที่ใช้เวลาด้วยกันตลอดเวลา จึงเกิดผลงานที่ถ่ายแบบมาจากภาพถ่ายแมวที่เก็บไว้ในมือถือ และสร้างงานศิลปะด้วยการเพ้นท์รูปแมวเล็กๆ และเชื่อว่าเมื่อแชร์ชิ้นงานนี้จะทำให้ทุกคนยิ้มได้

กฤตเมธ สีถาน กล่าวว่า ในอดีตตนเองเคยเป็นนางโชว์ แต่ในช่วงเวลานั้นยังไม่พร้อมแสดงตนเป็นผู้หญิง และไม่ได้เปิดเผยตัวตนกับที่บ้าน แต่ศิลปะการแสดงที่เรียกว่า Drag ได้เป็นตัวทำลายเส้นแบ่งเรื่องเพศ เป็นการแสดงออกให้เห็นถึง passion และ personality ที่อยากเป็นแต่ไม่สามารถเป็นได้ในโลกของความเป็นจริง แล้วก็ได้มาเจอกับคนที่มีใจรักแบบเดียวกันจึงมารวมตัวกัน มองว่าพื้นที่นี้คือครอบครัว เป็น comfort zone เป็นครอบครัวที่ไม่ได้ผูกโยงกันด้วยสายเลือด แต่คือจุดยืนของคนกลุ่มหนึ่งที่รับในสิ่งที่อยากจะเป็น และ support ซึ่งกันและกัน ทำให้คอมมูนิตี้มันโตขึ้นให้ได้

และในฐานะผู้ดำเนินรายการเสวนา ฑีฆวุฒิ ยังกล่าวถึงสองศิลปินที่ติดภารกิจไม่สามารถมาร่วมงานในวันดังกล่าวว่า ผลงานของ โอ๊ต มณเฑียร เป็นชิ้นงานที่ให้ความรู้สึกรุนแรง มีความกดทับ มีความปรารถนาสูงมาก เพราะเป็นปมที่ค้างคาในใจของศิลปินมาตั้งแต่เด็ก แต่ผลงานของเขาได้ช่วยปลดเปลื้องพันธนาการนั้นๆ ส่วนผลงานของ พรรณพฤกษา ศิลปิน transgender ที่ตัดสินใจแปลงเพศ แต่ด้วยความรู้สึกผิดจึงบอกความจริงกับครอบครัวหลังการผ่าตัด และกลายเป็นว่าได้ปลดล็อคพันธนาการของตนเองออกมาในที่สุด เพราะครอบครัวไม่ได้แสดงการต่อต้านในสิ่งที่ตนเองเป็น ทำให้ได้เห็นความโอบอุ้มของครอบครัวที่มีต่อเด็กคนหนึ่ง ที่มีเพศสภาพที่คนในสังคมมองว่ามีความแปลกหรือแตกต่าง

ด้าน สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการ มูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่ามูลนิธิเอสซีจี ส่งเสริมความเสมอภาคและความหลากหลายทางสังคม เพราะในโลกยุคปัจจุบันเราทุกคนควรถูกปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน โดยพื้นที่ New Gen Space: Space For All Generations นี้ เป็นพื้นที่แห่งโอกาสที่ให้ทุกคนได้มาปลดปล่อยความสามารถผ่านผลงานศิลปะ เช่นเดียวกับศิลปินกลุ่มนี้ เลือกที่จะมารวมตัวกันด้วยงานศิลปะ เพราะศิลปะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารในสิ่งที่ต้องการจะพูด ได้บอกกับครอบครัวในสิ่งที่เป็น ครอบครัวทุกคนโอบอุ้มและรักเราให้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี เพิ่มเติมได้ที่ www.scgfoundation.org และเฟซบุ๊ก LEARNtoEARN #LEARNtoEARN #เรียนรู้เพื่ออยู่รอด #รุ่นนี้ต้องรอด #มูลนิธิเอสซีจี

Related

Lastest