#ทบทวนวิธีการทำงานอย่างยั่งยืน
คนทำงานต้องทำความเข้าใจผลกระทบที่ธุรกิจและงานของตนเองสร้างขึ้นต่อโลกของเรา เพื่อนำไปสู่การหาแนวทางลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม เราทุกคนจำเป็นต้องหันกลับมา “ทบทวน” ในหลายแง่มุมของกระบวกการทำงาน ตั้งแต่สถานที่ทำงาน ไปจนถึงว่าทำอย่างไรเราจึงสามารถสร้างกระบวนการทำงานแบบวงจรหมุนเวียน (Circular) เพื่อลดการศูนย์เสียของทรัพยากรลง
วันนี้ #PRINSIDE ขอเสนอ 7 ข้อ สู่แนวทางการสร้างธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
1. กำหนดเป้าหมายด้าน “ความยั่งยืน” : หากอ้างอิงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ (United Nations : UN) แล้วเราจะพบว่าจะมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย ซึ่งแน่นอนว่าการจะทำทั้งหมดนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย การสร้างเป้าหมายจะทำให้องค์กรมีความชัดเจนและเห็นความเป็นไปได้มากขึ้นในการนำมาทำจริง เช่น บริษัท Unilever กำหนด 2 เป้าหมายคือ เป้าหมายด้านความยั่งยืนด้านอาหาร ที่ต้องการให้อาหารสามารถเข้าถึงทุกคนได้โดยไม่มีใครต้องอดยาก และเป้าหมายความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่ให้ความสำคัญกับความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ซึ่งในส่วนนี้ HR ต้องสำรวจเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทให้แน่ชัด เพื่อนำมาปรับใช้กับฝ่าย HR ในการสนับสนุนงานของบริษัทให้ไปถึงเป้าหมายที่วางไว้ เช่น จากตัวอย่างเป้าหมายด้านความยั่งยืนข้างต้น HR อาจจะต้องดูว่าในการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลจะทำอย่างไรให้สามารถสร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในการทำงานได้ด้วย
2. ทบทวนกระบวนการทำงาน : เมื่อองค์กรมีเป้าหมายแล้ว HR ลองทบทวนดูว่า กระบวนการทำงานกำลังขัดแย้งกับเป้าหมายอยู่หรือไม่ เช่น เป้าหมายของเราคือความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมแต่ในการทำงานจริงยังใช้กระดาษอย่างสิ้นเปลือง และที่สำคัญ อย่าลืมอัปเดตเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง
3. ให้เป้าหมายด้านความยั่งยืนเป็นส่วนหนึ่งในการสรรหาบุคลากร : ในการสัมภาษณ์เพื่อสรรหารับคนเข้าทำงาน แนะนำให้ใช้เรื่องความยั่งยืนตามเป้าหมายบริษัทเป็นส่วนหนึ่งในการทดสอบการสัมภาษณ์ด้วย เช่น คำถามเพื่อตรวจเช็กทัศนคติที่มีต่อปัญหาดังกล่าว ความเข้ากันได้กับวัฒนธรรม และอย่าลืมอธิบายข้อมูลเป้าหมายความยั่งยืนกับพนักงานใหม่
4. จัดอบรม : เป้าหมายด้านความยั่งยืนบางอย่างอาจต้องใช้ความรู้เฉพาะด้าน HR มีส่วนผลักดันให้เกิดกิจกรรมจัดอบรมจะช่วยให้บุคลากรภายในเข้าใจเป้าหมายของความยั่งยืนขององค์กร สิ่งที่เรากำลังทำ และช่วยให้โครงสร้างของเป้าหมายแข็งแรงมากขึ้น
5. ช่วยพนักงานทำตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น : ในฐานะ HR เราอาจจะต้องจัดสรรทรัพยากรให้กับบุคลากร HRอาจเตรียมอุปกรณ์ให้พนักงานสามารถการทำตามเป้าหมายได้ง่ายขึ้น เช่น เป้าหมายของเราคือความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ก็เตรียมกระดาษรีไซเคิลไว้ให้ หรืองดใช้อุปกรณ์สิ้นเปลืองทั้งหมดและหันมาใช้เป็นระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน
6. สร้างแรงจูงใจ : HR สามารถใช้การวัดคะแนนเพื่อประเมินว่าว่าพนักงานมีส่วนร่วมกับเป้าหมายที่บริษัทตั้งไว้มากแค่ไหน และอาจมีการกำหนดรางวัลเล็ก ๆ น้อยไว้ให้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน
7. เปิดโอกาสให้เป็นอาสาสมัคร : HR สามารถลองเอากิจกรรมเพื่อสังคมมาประชาสัมพันธ์และอนุญาตให้พนักงานภายในองค์กรสมัครเข้าร่วม ตัวอย่างเช่น บริษัท UPS ที่มีการเปิดโอกาสให้พนักงานไปเข้าร่วมกิจกรรมอาสาเพื่อสังคมในสิ่งที่พนักงานอยากทำ เป็นต้น
ขอบคุณข้อมูลจาก
truedigitalacademy
hand.co.th