INSIDE-INTRENDS
#เทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ2024
#เทรนด์ความปลอดภัยจากการใช้ Ai
ธุรกิจที่สามารถจับเทรนด์อย่างการนำเทคโนโลยี Ai เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาสินค้าหรือบริการ การพัฒนาศักยภาพ หรือการบริหารคนในองค์กร อาทิเช่น การนำมาใช้งานร่วมกับระบบบริหารจัดการภายในธุรกิจ การวิเคราะห์ความต้องการของกลุ่มลูกค้า การจัดเก็บข้อมูลที่เป็นความลับได้อย่างเป็นระเบียบและปลอดภัย และการนำ Ai เข้ามาใช้โดยไม่ทำให้เกิดการเลิกจ้างหรือละเมิดสิทธิบางอย่างของมนุษย์ รวมถึงผลกระทบต่างๆ ของเทคโนโลยีที่มีต่อธุรกิจก็ตาม จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในยุคนี้ได้ง่ายขึ้นและได้เปรียบทางการตลาดมากขึ้น เพราะเทรนด์ธุรกิจด้าน Ai กำลังได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องและมีความน่าเชื่อถือมากขึ้นด้วยเช่นกัน
วันนี้ #PRINSIDE ขอเสนอ 6 เทรนด์เทคโนโลยี 2024 เพื่อคว้าโอกาส และลดภัยคุกคามในยุค AI
1. โมเดลธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วย AI (AI-driven Business Models)
จากเดิม AI ที่สามารถทำนายผลจากข้อมูลถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือที่ให้ข้อมูลในเชิงลึก เช่น Facebook ที่ใช้ AI ทำนายว่า โฆษณาใดที่เกี่ยวข้องกับผู้ใช้แต่ละคนมากที่สุด หรือ Amazon ที่ทำนายว่า ผลิตภัณฑ์ใดที่ลูกค้าคนหนึ่งจะซื้อในครั้งต่อไป แต่แนวโน้มที่จะได้เห็นในอนาคตคือ AI ทำนายข้อมูลจะกลายเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่นำเสนอคุณค่าขององค์กรได้ เช่น Midjourney เอไอที่สามารถผลิตภาพ จากคำสั่งของผู้ใช้ว่า ภาพควรจะต้องมีลักษณะอย่างไร หรือ ChatGPT ที่คาดการณ์คำตอบที่เหมาะสมกับคำสั่งของผู้ใช้ นอกจากนี้ AI จะมีประสิทธิภาพในการช่วยแก้ปัญหาที่ยังท้าทายอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การใช้ AI ในบริษัททางการเงินเพื่อตรวจจับการฉ้อโกง องค์กรจึงควรต้องเลือก Use Cases ที่เจาะจงมากขึ้นในการสร้างโอกาสที่ดีที่สุด เพื่อสร้างมูลค่าสูงสุดให้กับลูกค้า จากรายงาน Tech Trends 2024 พบว่าองค์กรด้านไอทีส่วนใหญ่กำลังวางแผนใช้งาน AI ในการช่วยขับเคลื่อนด้านกลยุทธ์ของธุรกิจในปี 2024 โดย 66% ของบริษัทที่เลือกลงทุนไปกับ AI ภายในปี 2024 คาดว่า AI จะสร้างผลกระทบในเชิงบวกต่อบริษัทของตนเอง ในขณะที่มีเพียง 38% ของบริษัทที่ยังไม่เลือกลงทุนกับ AI เท่านั้นที่คิดเช่นนี้ และมีเพียง 3% ของผู้ที่ยังไม่เชื่อมั่นใน AI เท่านั้นที่รู้สึกว่า AI เป็นภัยคุกคามเสียมากกว่า ผู้ใช้ AI กว่า 77% จะใช้เพื่อการวิเคราะห์ธุรกิจและการข่าวกรองทางธุรกิจ 71% ใช้เพื่อระบุความเสี่ยงและปรับปรุงระบบความปลอดภัย ขณะที่ผู้ที่ไม่เชื่อมั่นใน AI ส่วนใหญ่จะยังไม่ประยุกต์ใช้ AI ในกลยุทธ์ขององค์กร และ 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามเชื่อว่าในปี 2024 AI จะเป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ธุรกิจหลายๆ ด้าน
2. ระบบหลังบ้านอัตโนมัติ (Autonomized Back office)
ก่อนนี้ฝ่ายไอทีมีบทบาทขับเคลื่อนระบบธุรกิจให้อยู่ในรูปแบบอัตโนมัติ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้ระบบสามารถทำงานและควบคุมตนเองในการดำเนินกิจกรรมให้เป็นไปตามเป้าหมายของบริษัทได้ แต่เมื่อมี Generative AI งานใหม่ๆ หลากหลายชนิดก็สามารถทำได้โดยอัตโนมัติมากขึ้น AI โมเดลสามารถประมวลผลข้อมูลที่ไม่มีโครงสร้างได้ในปริมาณมาก (Unstructured data) อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็น การใช้เพื่อจัดประเภทข้อความ แก้ไขข้อความ สรุปเนื้อหา สร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ และอื่นๆ ได้อีกมากมาย
ดังนั้น แม้องค์กรที่ยังไม่ได้เปลี่ยนโมเดลธุรกิจมาใช้ AI ก็ยังจะได้รับประโยชน์จากการใช้ AI เหล่านี้เข้ามาปรับกระบวนการปฏิบัติงานในปัจจุบัน จากการใช้งานผ่านแอปพลิเคชัน บริการผ่านเว็บเบราว์เซอร์ เช่น ChatGPT และอีกส่วนหนึ่งที่มาจากการใช้ฟีเจอร์ใหม่ๆ ในซอฟต์แวร์ที่นำ AI เข้ามาอัปเกรดฟีเจอร์
รายงานได้เปิดเผยว่า 47% ของผู้ใช้ AI สนใจจะใช้ฟีเจอร์ Generative AI ใหม่ๆ จากผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ ไม่ว่าจะยังอยู่ในช่วง Beta (17%) หรือพร้อมใช้งานแล้ว (30%) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงมีความระมัดระวังในการใช้ โดย 37% ระบุว่า ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมก่อนตัดสินใจใช้งาน และ 16% จะยังรอจนกว่าองค์กรต่างๆ จะทดสอบฟีเจอร์เหล่านี้ก่อน
และเมื่อถามว่าองค์กรส่วนใหญ่สนใจใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อการปฏิบัติงานประเภทใดมากที่สุด 1 ใน 3 ของผู้ใช้ AI ตอบว่า ได้มีการใช้ AI สำหรับงานที่มีกระบวนการทำซ้ำและงานระดับต่ำให้อยู่ในรูปแบบอัตโนมัติแล้ว ส่วน 45% ตอบว่า วางแผนจะใช้ AI ทำเช่นนั้นในปี 2024
รายงานยังพบว่า มีความเห็นที่ผู้ใช้ AI และผู้ที่ไม่เชื่อมั่นใน AI เห็นตรงกัน นั่นคือ ทั้งสองกลุ่มสนใจในการใช้ AI ทำงานต่างๆ ให้แบบอัตโนมัติมากกว่าจะใช้เพื่อช่วยให้พนักงานปฏิบัติการตัดสินใจได้ดีขึ้น
3. การประมวลผลเชิงพื้นที่ (Spatial Computing)
Spatial computing หรือเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการคำนวณเชิงพื้นที่และผสานวัตถุทางกายภาพและโลกดิจิทัลเข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ใช้สามารถโต้ตอบกับคอนเทนต์ดิจิทัลในพื้นที่รอบๆ ได้ การประมวลผลเชิงพื้นที่ใช้การโต้ตอบตามธรรมชาติ เช่น ท่าทาง เสียง และสายตา ผ่านการใช้อุปกรณ์อย่าง แว่นตา AR (Augmented Reality) หรือชุดหูฟัง VR (Virtual Reality) แทนที่การใช้อุปกรณ์ส่วนต่อแบบเดิมอย่าง คีย์บอร์ด หรือเมาส์ ตัวอย่างเช่น Apple บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ที่ได้เปิดตัวสินค้า Spatial Computing ใหม่เมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา
จากรายงาน ผู้สนใจใช้เอไอมีความสนใจจะใช้การโต้ตอบระหว่าง AI กับมนุษย์ถึง 42% และ 1 ใน 5 ของผู้สนใจใช้ AI ได้ลงทุนใน Mixed Reality (การผสมผสานระหว่างสภาพแวดล้อมในโลกจริงและสภาพแวดล้อมในโลกดิจิทัลที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้น) แล้ว ในขณะที่มี 1 ใน 15 ของผู้ไม่เชื่อมั่นใน AI เท่านั้นที่ลงทุน รายงานยังแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่ลงทุนหรือวางแผนลงทุนใน AI มีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ใช้ Mixed Reality มากขึ้น แต่การลงทุนส่วนใหญ่จะยังอยู่ในระยะหลังปี 2024
4. การใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ (Responsible AI)
เป็นเรื่องที่เราต้องหาวิธีวางกรอบการกำกับดูแลที่ดีในองค์กร เพื่อให้เราเข้าใจว่า AI กำลังทำอะไร และเราสามารถอธิบายได้ ซึ่งประกอบด้วย 3 เรื่อง คือ หนึ่ง เราต้องเข้าใจข้อมูลที่เอามาใช้เทรน AI สอง เราต้องเข้าใจว่า AI สามารถคาดการณ์ได้อย่างไร และ สาม เราต้องเข้าใจผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการคาดการณ์นั้น
หลายบริการจาก AI ได้นำมาใช้ในเชิงพาณิชย์และมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความกังวลต่อการใช้ AI ในทางที่ผิด การเปลี่ยนพฤติกรรมของมนุษย์จากการใช้ข้อมูลเท็จ การเป็นต้นเหตุของการว่างงานจำนวนมหาศาล หรือแม้กระทั่งการก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อมนุษยชาติ ซึ่งผู้ที่มีบทบาทในการออกกฎหมายมักจะออกข้อบังคับใดๆ ไม่ทันต่อพฤติกรรมการใช้เทคโนโลยีที่เกิดขึ้นใหม่อย่างรวดเร็วนี้
อย่างไรก็ตาม ในฝั่งยุโรปก็ได้มีความเคลื่อนไหวในเรื่องกฎหมายแล้ว โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้มีการร่างกฎหมายว่าด้วย AI เมื่อเดือนมิถุนายน 2023 ซึ่งพูดถึงเรื่องการห้ามใช้เครื่องมือที่ระบุอัตลักษณ์ชีวภาพอย่าง การรับรู้ใบหน้า (Face Recognition) ในที่สาธารณะ หรือทำเนียบขาว สหรัฐอเมริกา ก็ได้มีการดำเนินการคำสั่งฝ่ายบริหารและกฎหมายว่าด้วยการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ ในขณะเดียวกัน บริษัท AI ชั้นนำ 7 แห่งก็ได้ทำการรับรองในการออกมาตรการที่รับประกันความปลอดภัยและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งรวมถึงเรื่องการใส่ลายน้ำบนผลงานที่สร้างขึ้นจาก AI หรือจัดทำรายงานเกี่ยวกับข้อจำกัดและขอบเขตการใช้งาน AI ที่ไม่เหมาะสม
แล้วสำหรับองค์กรทั่วไป ใครควรจะเป็นผู้ออกข้อบังคับหรือแนวทางการควบคุมการใช้ปัญญาประดิษฐ์? จากการสำรวจ Future of IT ของ Info-Tech พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ใช้ AI ระบุว่า CIO จะเป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลการใช้ AI อีก 17% ระบุว่า คณะกรรมการหรือกลุ่มทำงานจะเป็นผู้รับผิดชอบ และอีก 10% ระบุว่า ผู้บริหาร 2 คนขึ้นไปควรร่วมกันรับผิดชอบ ซึ่งกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งนี้อาจรวมถึง CIO ด้วย และ 1 ใน 5 ของผู้ใช้ AI ยังไม่ได้มอบหมายใครให้เป็นผู้รับผิดชอบในการกำกับดูแลการใช้เอไอ
5. การออกแบบที่คำนึงถึงความปลอดภัย (Security by Design)
ในข้อนี้เน้นย้ำถึงการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยของซอฟต์แวร์ตั้งแต่เริ่มต้น ไม่ใช่ทำการแก้ไขเพิ่มเติมในภายหลังที่เกิดปัญหา โดยให้นักพัฒนา ฝ่ายไอที คาดการณ์ถึงจุดอ่อนที่อาจจะเกิดขึ้นและหาแนวทางป้องกันที่เข้มข้น เพราะซอฟต์แวร์ที่ผสาน AI จะทวีความซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนี้ การที่ปัจจุบันอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยังเขียนโปรแกรมที่อาจมีช่องโหว่ แล้วค่อยมาอัปเดตแพตช์ด้านความปลอดภัย เพื่อแก้ไขช่องโหว่ในภายหลัง ยังคงเป็นหลักปฏิบัติในการออกแบบผลิตภัณฑ์นั้น ส่งผลให้ผู้ใช้ต้องรับผิดชอบต่อความเสี่ยงในการใช้งานเอง เป็นผลให้แนวทางนี้อาจจะทำให้ซอฟต์แวร์มีความปลอดภัยไม่เพียงพอต่อภัยคุกคามรูปแบบใหม่ๆ องค์กรจึงต้องให้ความสำคัญกับการลงทุนและจัดหาทรัพยากรมากขึ้นเพื่อที่จะรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์
รายงาน AI Trends 2024 ได้แสดงให้เห็นว่า องค์กรส่วนใหญ่ได้วางเป้าหมายในการลงทุนไปกับความปลอดภัยทางไซเบอร์ในปี 2024 โดย 1 ใน 6 ขององค์กรวางแผนที่จะเพิ่มงบในการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ของตนเองมากกว่า 10% โดยผู้ใช้ AI และผู้ที่ไม่เชื่อมั่นใน AI จะให้ความสำคัญกับการลงทุนในเรื่องนี้แตกต่างกัน โดยผู้ใช้ AI จะให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักรู้และจัดฝึกอบรมให้กับทีมงานของตนมากที่สุด โดยเฉลี่ยคิดเป็น 4.3/5 ส่วนผู้ที่ไม่เชื่อมั่นใน AI จะให้ความสำคัญกับการมองหาบริการจากบุคคลที่สาม (เช่น การตรวจจับการบุกรุกตลอด 24 ชั่วโมง) เป็นสิ่งสำคัญที่สุด โดยให้คะแนนเฉลี่ย 4.1/5
6. การปกป้องข้อมูลขององค์กรและลูกค้าจากการใช้ AI (Digital Sovereignty)
ในช่วงยุคแรกของระบบประมวลผลบนระบบคลาวด์ หลายองค์กรระมัดระวังที่จะจัดเก็บข้อมูลของตนเองลงบนเซิร์ฟเวอร์ของบุคคลที่สาม เนื่องจากกังวลว่าบริษัทเทคยักษ์ใหญ่ที่เสนอบริการคลาวด์เหล่านี้จะดึงข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าไปใช้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวเอง
ผู้ให้บริการคลาวด์ได้แก้ปัญหาเหล่านี้ โดยเสนอให้ระบบมีการเข้ารหัสเพื่อรักษาความเป็นส่วนตัวของข้อมูลลูกค้า และยังเสนอระบบการเข้ารหัสของข้อมูลขณะที่กำลังประมวลผล เพื่อเป็นการรับประกันแก่ผู้ใช้ที่มีความกังวลเรื่องนี้อีกด้วย
ความกังวลในเรื่องความลับของข้อมูลเกิดขึ้นกับ Generative AI เช่นเดียวกัน ทำให้เหล่าผู้ให้บริการอย่าง Large Language Model Chatbot ออกมาประกาศว่า ชุดข้อมูลขนาดใหญ่ที่เอามาใช้เทรนโมเดลมาจาก Common Crawl แหล่งเก็บข้อมูลที่สร้างโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อใช้เป็นแหล่งข้อมูลสำหรับนักวิจัย หรือ ผู้ให้บริการโมเดล AI ผลิตภาพ (Image-generating Model) ก็ได้ใช้ชุดข้อมูลภาพสาธารณะ (Open Source) จาก LAION ซึ่งไม่แสวงหาผลกำไร โดยรวบรวมมาจากเว็บคลังภาพ บล็อก เว็บไซต์ช้อปปิ้ง และเว็บไซต์สต็อกภาพ ต่างๆ
นั่นจึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายบริษัทต่างสงสัยว่า จะสามารถปกป้องข้อมูลและอัตลักษณ์ดิจิทัลของตนเองได้อย่างไร ทำให้บริษัทต้องหาวิธีรับมือในการป้องกันต่างๆ เพื่อรักษาข้อมูลบนดิจิทัล ไม่ให้ AI ของบุคคลที่สามนำข้อมูลของบริษัทไปใช้ได้
จากรายงาน Tech Trends 2024 ระบุว่า ไม่ว่าองค์กรต่างๆ จะมีแผนการลงทุนใน AI หรือไม่ก็ตาม แต่ส่วนใหญ่แล้วกำลังรอเครื่องมือ Generative AI แบบมืออาชีพที่มีการกำกับดูแลในเรื่องข้อมูล ก่อนที่พนักงานจะได้รับการอนุมัติให้นำเครื่องมือเหล่านั้นมาใช้
ขอบคุณข้อมูลจาก
humansoft.co.th
visai.ai