ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี จัดงานสัมมนาภายใต้แนวคิด finbiz industry hack 2023 ติดอาวุธอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สู่การเติบโตอย่างยั่งยืน เสริมแกร่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอี เข้าถึงเทรนด์อุตสาหกรรม ตรวจสุขภาพธุรกิจ ปรับตัวรับสภาวะตลาดที่ท้าทายขึ้น พร้อมกลยุทธ์ชนะใจลูกค้ายุคใหม่ ให้สามารถวางแผนการเติบโตของธุรกิจรับเทรนด์ที่กำลังมาแรง
นางสาวสุกัญญา ตรีเสน่ห์จิต รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าบริหารความสัมพันธ์ลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบีธนชาต กล่าวว่า อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว และคาดว่าปีหน้าจะยังขยายตัวได้อีก แต่ผู้ประกอบการก็ยังต้องเผชิญกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ของผู้บริโภค คู่แข่งขันทั้งรายเล็กรายใหญ่ โมเดลในการขายที่เปลี่ยนไป หรือแม้กระทั่งเรื่องของ ESG หรือความยั่งยืน ที่เป็นกระแสไปทั่วโลก
ทีทีบี เล็งเห็นถึงความสำคัญของการสนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในอุตสาหกรรมนี้ จึงได้จัดงานสัมมนาภายใต้ finbiz by ttb โครงการเสริมความรู้สู่การเป็น Smart SME ซึ่งถือเป็นพันธกิจในการเป็น “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” ตามกรอบ B+ESG ที่ผสานธุรกิจและความยั่งยืนเป็นเรื่องเดียวกัน ผ่านการสนับสนุนให้ลูกค้าธุรกิจมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น และสามารถดำเนินธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวถึง ภาพรวมและเทรนด์อุตสาหกรรมอาหารไทยว่า เป็นหนึ่งใน 15 ผู้ส่งออกอาหารโลก ด้วยจุดแข็งที่ประเทศไทยมี คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และมีระบบการผลิตที่มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ จนทำให้ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็น “ครัวของโลก”
พร้อมแนะนำโอกาสใหม่ที่น่าจับตาสำหรับการส่งออกคือ 1) ตลาดจีนที่มีโอกาสสินค้าอาหารฮาลาลกว่า 30 ล้านคน 2) ตลาดเกาหลีที่นิยมบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปรสชาติแบบไทย ๆ 3) ตลาดอินเดียที่กำลังมองหาชาผลไม้จากไทย ส่วนอาหารอนาคต (Future food) ถือเป็นอีกสินค้าที่เป็นความหวังใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืน (ESG) โดยประเทศไทยมีแผนส่งเสริมอาหารแห่งอนาคต เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้สอดคล้องกับ BCG โมเดลอาหารอนาคตแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1) อาหารฟังก์ชัน คือ การทำให้อาหารที่มีอยู่แล้วน่าสนใจมากขึ้น เช่น น้ำเปล่าที่นำมาผสมวิตามินต่าง ๆ 2) อาหารใหม่ (Novel food) เช่น โปรตีนแมลง โปรตีนจากพืช และ 3) อาหารอินทรีย์ ที่ผ่านกระบวนการแปรรูปน้อย โดยตลาดที่น่าสนใจ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เวียดนาม จีน เมียนมา และกัมพูชา สำหรับเทรนด์พฤติกรรมผู้บริโภคปี 2566 – 2569 ต้องการสินค้าเพื่อสุขภาพ ความปลอดภัยของอาหาร สินค้าที่มีนวัตกรรม หรืออาหารที่ช่วยในเรื่องจิตใจ ให้ความสำคัญด้านความยั่งยืน ใส่ใจเรื่องธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ด้าน นายกมลพันธ์ ลักษณา หัวหน้าการพัฒนาที่ยั่งยืน ทีเอ็มบีธนชาต ย้ำว่า ผู้ประกอบการอาหารจำเป็นต้องปรับตัวในการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน (ESG) ก่อนที่จะถูกภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือสังคม อย่างเช่น มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM) ของสหภาพยุโรป เป็นต้น นอกจากนั้นยังต้องเผชิญกับความท้าทายด้านการวัดการรายงานการปล่อยคาร์บอน หรือมีต้นทุนในการสร้างมาตรฐานเพื่อรองรับมาตรการดังกล่าว นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรมแน่นอน หากผู้ประกอบการรู้ทัน ทำเร็ว ก็จะรับมือได้ดีขึ้น
“ESG คือ แนวคิดสำคัญที่จะกระทบกับทั้งซัพพลายเชน ทุกอย่างต้องตรวจสอบย้อนกลับได้ทั้งหมด ผู้ประกอบการต้องดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบมากขึ้น ต้องคิดต่างเพื่อเป็นผู้นำในตลาด ซึ่งการพัฒนาสินค้าให้ Green และ LEAN มากขึ้นโดย ttb ก็มีวงเงินสินเชื่อสีเขียวพร้อมให้การสนับสนุน”
ขณะที่ นายจรัญพจน์ รุจิราโสภณ กรรมการบริหาร บริษัท ส.ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) ทายาทรุ่นที่ 2 ของแบรนด์ ส.ขอนแก่น ซึ่งปัจจุบันบริษัทดำเนินธุรกิจแบบครบวงจร Farm to Table ตั้งแต่โรงเลี้ยงสัตว์ไปจนถึงร้านอาหาร (ยกเว้นโรงเชือด) และตั้งเป้าหมายชัดเจนที่จะเป็น Global Company ได้ฝากเคล็ดลับทางธุรกิจที่จะเผชิญความท้าทายของการทำธุรกิจในยุคนี้ ไม่ว่าจะเป็น 1) การหา Talent หรือคนเก่งที่สุดในแต่ละด้านมาทำงานในทีม เพราะในฐานะเจ้าของ ไม่ได้เก่งไปทุกอย่าง 2) สร้างวัฒนธรรมการกล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา โดยทุกคนมีเป้าหมายเดียวกันคือ การพัฒนาองค์กร ทั้งหมดนี้ จะส่งผลให้บริษัทสามารถลดต้นทุน และขับเคลื่อนผลประกอบการให้เติบโตได้
นางปิยนุช ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ Co-Founder & Head of Strategies บริษัท เฮด วันฮันเดรด จำกัดผู้เชี่ยวชาญด้านการให้คำปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน ชวนผู้ประกอบการมาสร้างโอกาสในการเพิ่มยอดขายโดยยึดลูกค้าเป็นตัวตั้ง พร้อมแนะวิธีการให้ได้มาซึ่งยอดขายที่เติบโตของอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม คือ 1) ทำอย่างไรให้ลูกค้าบริโภคได้บ่อยขึ้น 2) หาลูกค้าใหม่ โดยเฉพาะผู้บริโภคที่เป็นคนรุ่นใหม่ หรือตลาดที่มีศักยภาพ 3) สร้าง Fandom เพื่อหนีสงครามราคา 4) เพิ่มมูลค่าในสิ่งที่ลูกค้าให้ความสำคัญ พร้อมแนะนำกลยุทธ์เพิ่มยอดขายผ่าน 5A Customer Journey ได้แก่ Aware, Appeal, Ask, Act, และ Advocacy
นางกนกพร จูฑา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวหน้าธุรกรรมทางการเงินภายในประเทศ ทีเอ็มบีธนชาต มองว่า แม้อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มจะเติบโตได้ดี แต่ตลาดยังเป็นของธุรกิจรายใหญ่ โดยธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีจำนวนมากถึง 98% สร้างรายได้เพียง 19% ของมูลค่าตลาด ด้วยความท้าทายในเชิงโครงสร้างต้นทุน ที่ธุรกิจเอสเอ็มอีมีต้นทุนการขาย การตลาด และการดำเนินการสูงกว่าธุรกิจรายใหญ่ รวมถึงความท้าทายจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่จะมากระทบในปีหน้า ทำให้ต้นทุนของวัตถุดิบสูงขึ้นด้วย
การบริหารจัดการต้นทุนและประสิทธิภาพการดำเนินงานจึงเป็นเรื่องสำคัญต่อกำไรของธุรกิจ ทีทีบี ได้พัฒนาโซลูชันทางการเงินที่ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน เพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ไม่ว่าจะเป็น ttb smart shop ตัวช่วยในการจัดการร้านค้าและรับชำระผ่าน QR, ttb quick pay บริการสร้าง Link เพื่อการรับชำระเงินออนไลน์, ttb payroll plus บริการโอนจ่ายเงินเดือนและดูแลสวัสดิการพนักงานแบบครบวงจร รวมทั้งสินเชื่อ ttb smart biz ที่สามารถใช้รีไฟแนนซ์สินเชื่อธุรกิจ วงเงินสูง ผ่อนนานสูงสุด 20 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องและการลงทุนในระยะยาว
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่สนใจความรู้เพื่อเสริมธุรกิจ สามารถดูข้อมูลอื่น ๆ ได้ที่ https://www.ttbbank.com/pr/finbiz