INSIDE HISTORY เปิดประวัติคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา #ตอนที่ 8 : มหาวิทยาลัยชินไซบาชิ

“6 ปีแห่งการค้นพบเป้าหมายของชีวิต สร้างสิ่งที่ติดตัวตลอดไปจากวัฒนธรรม ภาษา อาหาร”

หลังผ่านการทำงานเป็นจัดซื้อที่บริษัทเคียวโก ทำให้เริ่มเข้าใจความสนุกในการทำธุรกิจ สำหรับฉัน ที่เริ่มช่วยธุรกิจครอบครัวตามที่พ่อบอก การอยู่โอซาก้า 6 ปี ทําให้ได้พบเป้าหมายในชีวิต และในขณะ เดียวกัน การใช้ชีวิตในโอซาก้าทำให้ได้เจอกับสิ่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน ฉันจะเล่าย้อนกลับไปในช่วงเวลาที่อาศัยอยู่ตอนนั้น

สถานที่อาศัยอยู่ในช่วงแรกคือ Hyotan-yama ในโอซาก้า อยู่ติดกับชายเขตแดนจังหวัดนารา ซึ่งบริษัทเคียวโกได้เช่าบ้านไว้ ฉันอาศัยอยู่กับพนักงานรุ่นพี่คนไทยที่มาก่อนหน้า เนื่องจากเป็นสถานที่ ที่ไม่สะดวกเพราะไม่มีก๊าซเข้าถึง ปีที่สองฉันจึงย้ายไปอยู่ด้านใต้ของโอซาก้า ซึ่งปัจจุบันคือเขต Sumiyoshi Tezuka-yama บริษัทเคียวโกได้ซื้อที่ดินและสร้างเป็นหอพักขึ้นมาซึ่งในภายหลังได้ยินว่าขายไปและ

ทำกำไรได้มากทีเดียว

ฉันออกจากบ้านเวลา 6.30 น. และถึงบริษัทเวลา 8.00 น. เลิกงาน 17.00 น. ถ้าไม่มีงานเลี้ยง มื้อเย็นข้างนอกก็จะถึงบ้านราวๆ 18.30 น. ที่เมืองไทยไม่ได้มีเวลาเข้าออกงานที่แน่นอน ทำให้การทำงาน ที่บริษัทที่มีข้อบังคับชัดเจนแบบนี้เป็นเรื่องแปลกใหม่

ที่หอพักจะมีแม่บ้านที่ฉันเรียกว่า คุณยาย เป็นคนทำอาหารเช้าและเย็นให้ มีทั้งข้าว ซุปมิโสะ ของต้ม ของทอด เรียกได้ว่าครบครันทีเดียว บางครั้งท่านก็ทำสุกี้ยากี้ที่ฉันชอบให้ทาน

เมื่อคิดถึงรสชาติอาหารไทยก็จะราดน้ำปลาลงไป ในสมัยนั้นที่โอซาก้ายังไม่มีร้านอาหารไทย

ที่โตเกียวมีอยู่ร้านหนึ่งแถวกินซ่า ซึ่งฉันมักจะแวะไปถ้าต้องเข้าไปทำงานที่โตเกียว

เมื่อมีพ่อค้าขายส่งจากเมืองไทยมาหา ฉันจะรับหน้าที่เป็นคนพาไปที่ต่างๆ ซึ่งสถานที่นิยมใช้รับแขก มักเป็นร้านสเต๊กเนื้อ Suehiro ในสมัยนั้นน่าจะราวๆ 400 เยน นอกจากนี้ก็ยังมีร้านสุกี้ยากี้ ร้านเทมปุระ

ลูกค้าทุกคนจากไทยก็ประทับใจ

ตอนมาโอซาก้าช่วงแรก ฉันพูดภาษาญี่ปุ่นไม่ได้เลย ในบริษัทเคียวโกเราสื่อสารกันด้วยวิธีเขียน ตัวอักษรคันจิ ในบรรดาพนักงาน มีพนักงานสูงอายุคนหนึ่งที่เคยไปอยู่เมืองจีน ชื่อคุณวาคาบายาชิ ซึ่งเก่ง ภาษาจีน เลยได้ทำงานด้วยกันบ่อยๆ และก็ได้ฝึกเรียนพูดภาษาญี่ปุ่นกับเขา ส่วนตัวอักษรฮิราคานะและ คาตาคานะฉันเรียนด้วยตัวเองจากหนังสือ ในภายหลังภาษาญี่ปุ่นนี้เป็นสิ่งช่วยฉันในการสร้างความสัมพันธ์ กับบริษัทร่วมทุนจากญี่ปุ่น

นอกจากนี้คุณวาคาบายาชิก็ยังสอนเกมหมากล้อมให้ด้วย พวกเรามักเล่นกันตอนกินข้าวเสมอ 

เกมหมากล้อมไม่มีทางที่จะชนะได้ 100% บางพื้นที่ต้องยกให้ฝั่งตรงข้าม ส่วนบางพื้นทีก็ต้องเอาชนะ เพื่อไม่ให้ เกิดการชนะในสนามแต่แพ้ในสงคราม กลยุทธ์หรือการตัดสินใจมีส่วนสำคัญในแต่ละสถานการณ์ มันเหมือน กับชีวิตและการทำธุรกิจเลยทำให้ฉันหมกมุ่นอยู่กับมัน

ฉันจบแค่ชั้นมัธยมต้น แต่ถ้าโดนถามก็มักจะตอบว่า “ฉันจบมาจากมหาวิทยาลัยชินไซบาชิ” การทำงาน ทำให้ได้สัมผัสกับประเพณีและวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ประสบการณ์ที่โอซาก้าเป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ด้วยเงิน

ในแต่ละวันฉันได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ สุดท้ายก็ต้องมีวันจบการศึกษา บริษัทเคียวโกเริ่มใหญ่ขึ้น และเริ่มมีการพูดถึงการเปิดสาขาที่ไทย ถ้าเป็นเช่นนั้นฉันก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องอยู่ประสานงานทีโอซาก้า อีกต่อไป ผู้ประกอบการญี่ปุ่นเองก็เริ่มหาทางไปต่างประเทศด้วยตัวเองโดยไม่ผ่านบริษัทเคียวโก และเริ่ม อยากติดต่อโดยตรงเองกับสหพัฒน์ ฉันเริ่มรู้สึกไม่ดีกับการที่มีการแข่งขันกันเพื่อความก้าวหน้าภายในบริษัท เคียวโก ในภายหลังพ่อของฉันได้ยกหุ้นที่มีในบริษัทเคียวโกให้กับคุณโอคาดะ และถอนตัวออกมา

ในตอนนั้นฉันอายุ 23 ปี การใช้ชีวิตที่โอซาก้าเท่ากับเป็นเวลาหนึ่งในสี่ของชีวิตแล้ว ฉันเริ่มมีความคิด ว่าอยากนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากญี่ปุ่นกลับไปใช้ทำงานที่ไทย พ่อไม่ได้เรียกฉันกลับประเทศ แต่ฉันขออนุญาต และตัดสินใจกลับเมืองไทยด้วยตนเอง ในปี พ.ศ. 2503 ฉันออกจากโอซาก้าด้วยความรู้สึกที่เต็มไปด้วย ประสบการณ์และความทรงจำ

ประธานเครือสหพัฒน์
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho (My Personal History)
หนังสือพิมพ์ Nihon Keizai Shimbun (Nikkei Newspaper)
July 2021

Related

Lastest