สหพัฒนพิบูล หรือ SPC ผู้จัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภคชั้นนำของไทย เดินแผนกลยุทธ์มุ่งสู่การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ยึดหลัก 3 ด้าน สิ่งแวดล้อม-สังคม-ธรรมาภิบาล โดยเร่งสำรวจคาร์บอนฟุตพริ้นท์ในองค์กรและขยายให้ครอบคลุมซัพพลายเชน คาดแล้วเสร็จปี 2568 ก่อนเดินหน้าสู่การตั้งเป้าหมายและกรอบระยะเวลาในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รองประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC ในฐานะประธานธรรมาภิบาลและการพัฒนาเพื่อความยั่งยืน เปิดเผยว่า ปัจจุบันแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นโจทย์ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและพยายามทำให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยสหพัฒนพิบูล (SPC) มีการดำเนินธุรกิจด้วยความมุ่งมั่นในการนำเสนอสินค้าดี ควบคู่ไปกับการดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย พร้อมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยอยู่ภายใต้ 3 หลักใหญ่ ได้แก่ 1. สิ่งแวดล้อม 2. ความรับผิดชอบต่อสังคม และ 3. ธรรมาภิบาล เพื่อให้สอดรับกับแนวคิด ESG (Environment, Social, Governance) เพื่อให้ทุกชีวิตในสังคมเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
สำหรับแผนกลยุทธ์ของ SPC ในการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน Sustainability ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสำรวจคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ในเรื่องของการใช้พลังงานในกระบวนการขนส่งของบริษัท ซึ่งได้ดำเนินการในขอบข่ายที่1 และ 2 ไปแล้ว และขยายไปยังกลุ่มซัพพลายเชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบว่ามีส่วนใดที่จะต้องปรับปรุงหรือพัฒนาต่อ โดยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการรวบรวมจัดเก็บข้อมูลให้มีความแม่นยำและรวดเร็วมากขึ้น นำมาซึ่งการลดต้นทุนการใช้ทรัพยากร ลดความผิดพลาดระหว่างทางได้ ควบคู่ไปกับการกระตุ้นภายในองค์กรในการคิดค้นนวัตกรรมในการพัฒนาการผลิตสินค้า รวมไปถึงปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สอดคล้องกับแนวคิด ESG โดยมีแผนเร่งให้แล้วเสร็จทั้ง 3 ขอบข่ายภายในปี 2568 เพื่อนำไปสู่การตั้งเป้าหมายและกรอบระยะเวลาในการลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างเป็นรูปธรรมที่ชัดเจนในระยะต่อไป
ที่ผ่านมา บริษัท ฯ ได้ดำเนินโครงการต่าง ๆ ที่เป็นรูปธรรม เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม ปี 2563 ได้เริ่มต้น โครงการ “Green PLEASE by SPC” โดยการนำขวดพลาสติก Pet ที่ใช้แล้วกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ โดยเริ่มจากการรณรงค์ภายในจัดตั้งตู้ทิ้งขวดพลาสติกในองค์กรและส่งเสริมให้พนักงานตระหนักถึงการคัดแยกขยะก่อนทิ้ง ซึ่งตั้งแต่ดำเนินโครงการ ที่ผ่านมาได้ร่วมส่งต่อขวดพลาสติกไปรีไซเคิลจำนวนทั้งหมด 69,750 ใบ หรือ 1,110 กิโลกรัม ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 3,439.84 kgCo2e. (เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 383 ต้น)
แคมเปญ “SPC Zero #GoGrowGreen” รวมพลังพนักงาน SPC ร่วมกันปลูกป่าชายเลนเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว มุ่งฟื้นฟูและอนุรักษ์พื้นที่ป่าชายเลนในเขตบางขุนเทียน พื้นที่สำคัญในการรักษาสมดุลทางนิเวศวิทยาเพื่อลดการกัดเซาะพื้นที่ชายฝั่งและช่วยดูดซับคาร์บอน สร้างความตื่นตัวพนักงานในองค์กรตื่นตัวมีจิตสำนึกในการรักษ์สิ่งแวดล้อมและพร้อมขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ สหพัฒนพิบูล ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในโครงการ “Care the Whale สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกระเจ้า” ส่งเสริมความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวีตคนในชุมชน ณ คุ้งบางกะเจ้า จ.สมุทรปราการ ปลูกฝังการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนในชุมชน ให้จัดการแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง สหพัฒนพิบูลได้สนับสนุนสินค้าที่จัดจำหน่ายให้กับชุมชนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าครองชีพ รณรงค์ให้ชุมชนนำขยะมาแลกเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์อุปโภคและบริโภค ตลอดการดำเนินการที่ผ่านมา ส่งเสริมการบริหารจัดการขยะในคุ้งบางกะเจ้ารวม 378,759 กิโลกรัม ลดปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 341,559 kgCO2e (เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 37,951 ต้น) และในปี 2567 ลุยต่อกับ “Care the Whale สถานีขยะล่องหน คุ้งบางกระเจ้า” ปี4 จัดแคมเปญเปิดรับขยะประเภท Multi-Layer Plastic หรือเรียกว่า “ถุงวิบวับ” จากขยะกำพร้า สู่ขยะล่องหน ซึ่งวัดจากแดงสามารถนำมาผ่านกระบวนการแยกเป็นเชื้อเพลิงและอลูมิเนียม ด้วยเครื่องจักรไพโรไลซิส โดย 1 รอบ ใช้เวลา 8 ชั่วโมง ขยะถุงวิบวับ 100 กิโลกรัม (ถุงวิบวับประมาณ 50,000 ชิ้น) สามารถแยกออกมาได้เป็น อะลูเนียม 10-20% ก๊าซและน้ำมัน 80%
โครงการ “Care the Bear : Change the Climate Change by Eco Event” จูงใจพนักงานด้วย6 ข้อปฏิบัติง่าย ๆ คือ 1. เดินทางโดยรถสาธารณะ หรือทางเดียวกันมาด้วยกันแบบ Carpool 2. ลดการใช้กระดาษและพลาสติกในงาน 3. งดใช้โฟม ( โพลิสไตรีน หรือ PS ) ตกแต่งสถานที่หรือภาชนะใส่อาหารในงาน 4. ลดใช้พลังงานจากอุปกรณ์ไฟฟ้าต่าง ๆ 5. ใช้อุปกรณ์ตกแต่งวัสดุที่นำกลับมา Reuse / Recycle ได้ 6. ตักอาหารแต่พอดี
ด้านสังคม ได้แก่ โครงการ “สหพัฒน์แอดมิชชั่น” เปิดโอกาสให้กับเยาวชนทั่วประเทศโดยเฉพาะในพื้นที่ต่างจังหวัดได้มีโอกาสเตรียมความพร้อมก่อนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยโดยมีติวเตอร์ชื่อดังระดับประเทศมาถ่ายทอดความรู้ วิชาสามัญ GAT และ PAT รวมทั้งแนะแนวระบบสอบ TCAS ในการคัดเลือกนักเรียนเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้เดินหน้าสู่ปีที่ 27 และยังคงดำเนินการต่อเนื่องในทุกปี
โครงการสหพัฒน์ให้น้อง เป็นการตามหายอดมนุษย์ตัวจิ๋วในโรงเรียนต่าง ๆ บ่มเพาะเยาวชนคุณภาพ ให้กลายเป็นเมล็ดพันธุ์ที่เติบโตเป็นต้นกล้าที่งดงาม เป็นแรงสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมและประเทศชาติให้มีความเจริญก้าวหน้า พร้อมมอบสิ่งของต่าง ๆ ซึ่งปัจจุบันโครงการนี้เดินหน้าสู่ปีที่ 8ได้ไปโรงเรียนกว่า 200 แห่ง ทั่วประเทศ
ด้านธรรมาภิบาล ได้แก่ โครงการ “ซื่อสัตย์ เพื่อชาติ” มีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างค่านิยมและปลูกจิตสำนึกเรื่องความซื่อสัตย์ให้เกิดขึ้นในกลุ่มเยาวชน และกระตุ้นให้คนไทยกลับมาเห็นคุณค่าของความซื่อสัตย์ โดยมีการจัดทำคลิปวิดีโอที่เน้นการสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายตระหนักถึงความซื่อสัตย์ ร่วมกันปลูกฝังความซื่อสัตย์ให้เกิดขึ้นกับสังคมไทย
“อดีตเรามีบทเรียนกับความไม่ยั่งยืนผ่านวิกฤติเศรษฐกิจมาแล้ว ซึ่งในอนาคตเรามองเห็นแล้วว่าถ้าภาคธุรกิจไม่ยั่งยืน สังคมและประเทศ โลกไม่ยั่งยืน สุดท้ายทุกคนจะเสียหายหมด นับเป็นความท้าทายของการปรับตัวขององค์กรไทยให้เข้าสู่ Sustainable ในแง่ขององค์กรปฏิเสธไม่ได้ว่าจำเป็นที่จะต้องลงทุน ซึ่งอาจจะนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนแต่เป็นการลงทุนในยะยาว เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ไม่ใช่หน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่ต้องมาแบกรับ ซึ่งผู้บริโภคทุกวันนี้มีความตื่นตัวและพร้อมที่จะจ่ายเงินเพิ่มถ้าสินค้าที่ตนเองซื้อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น สำหรับภาคเอกชนเองคงต้องใช้ระยะเวลาปรับตัวรวมไปถึงการปรับวัฒนธรรมองค์กรเพื่อให้เข้ากับกฎระเบียบต่าง ๆ และภาครัฐต้องมีทิศทางที่ชัดเจนและดำเนินการกำกับดูแลด้วยความเท่าเทียมกันเพื่อไม่ให้กระทบกับองค์กรและผู้บริโภค และเป็นการสร้างความยั่งยืนตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน”นายอภิสิทธิ์ กล่าว
การดำเนินงานทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น เป็นไปตามแนวคิดของ “ดร.เทียม โชควัฒนา” ในฐานะผู้ก่อตั้งสหพัฒนพิบูล ที่ให้ความสำคัญกับการทำตลาดสินค้าดี คนดี สังคมดี การไม่เอาเปรียบและคืนกำไรให้กับสังคมและผู้บริโภค จนเครือข่ายธุรกิจเติบโตแข็งแรง มีอัตลักษณ์ขององค์กรที่โดดเด่น สามารถเดินตามแนวทางธุรกิจที่ยั่งยืนได้เป็นอย่างดี