INSIDE HISTORY เปิดประวัติคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา #ตอนที่ 4 : ชีวิตในโรงเรียน

“ไม่ชอบเรียน แต่มีจิตใจที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น หลงไหลในการล้างรูปและบาสเกตบอล”

ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 เมื่อญี่ปุ่นประกาศยอมจำนนในปฏิญญาพ็อทซ์ดัม ( Potsdam Declaration) เป็นการสิ้นสุดของสงคราม ซึ่งหมายถึงภาวะสงครามของไทยก็สิ้นสุดลงด้วย ครอบครัวของฉัน ได้กลับไปที่บ้านในกรุงเทพฯ เป็นครั้งแรกในรอบสามปี

หลังจากนั้น ฉันเริ่มเข้าเรียนในโรงเรียนประถมจีนชื่อ “โรงเรียนเผยอิง” บนถนนทรงวาดใกล้บ้าน ในช่วงนั้นฉันมีรูปร่างผอม ไม่ชอบการเรียนที่เน้นเรื่องการท่องจําเป็นส่วนใหญ่ ฉันแตกต่างจากพี่ชาย สองคนที่เรียนเลื่อนชั้นอย่างสม่ำเสมอ ฉันเคยเรียนซ้ำชั้น แม่ของฉันดูเหมือนจะกังวลกับเรื่องนี้มาก

ส่วนพ่อที่ได้เห็นฉันตอนนั้นกล่าวว่า “อั๊วจะสอนบุณยสิทธิ์เอง” พ่อให้ฉันนั่งข้างๆ และเริ่มสอน เกี่ยวกับธุรกิจ เมื่อฉันเข้าเรียนมัธยมต้นที่โรงเรียนวัดสุทัศน์ตอนอายุ 15 ปี ฉันจะไปที่ร้านเฮียบเซ่งเชียง หลังเลิกเรียน และเริ่มช่วยงานอย่างจริงจัง

ตอนเป็นเด็กฉันไม่ได้ฝันอยากทำอาชีพอะไรเลย ในหมู่เพื่อนๆ บางคนฝันอยากเป็นนักธุรกิจ ทหาร และตำรวจ ซึ่งเป็นอาชีพยอดนิยมของพวกเขา ส่วนฉันไม่สนใจว่าอนาคตจะทํางานอะไร ขอเพียงเป็น อันดับหนึ่งก็พอ จะต้องยิ่งใหญ่ที่สุดหรือรวดเร็วที่สุด ฉันหลงใหลในตัวตนแบบนั้นซึ่งแตกต่างจากคนอื่น

ฉันเรียนไม่ดี แต่ฉันมีความอยากรู้อยากเห็น ฉันเคยอยากรู้ว่านาฬิกาเคลื่อนไหวอย่างไร ฉันเลย ถอดมันออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ และประกอบมันกลับเพื่อให้ทำงานได้ตามเดิม

ฉันชอบการถ่ายภาพด้วย แต่สิ่งที่ฉันหลงใหลมากกว่าคือ การล้างรูป ฉันหมกตัวอยู่ในห้องมืดที่ ทำเองในบ้าน ล้างฟิล์มด้วยน้ำยา และอัดลงกระดาษอัดรูปที่ตัดเป็นขนาดอย่างพอเหมาะ กระบวนการเหล่านี้กระตุ้นความสนใจให้ฉันเป็นอย่างมาก ในเวลานั้นกล้องเป็นของหรูหราและมีไม่กี่คนที่มีมัน คนทั่วไป จะซื้อฟิล์มเองแล้วยืมกล้องจากผู้อื่นเพื่อถ่ายรูป และฉันมักจะถูกไหว้วานจากเพื่อนๆ และคนแถวบ้าน ให้ล้างฟิล์มให้

ภาพถ่ายจากกล้องฟิล์มขาวดำ คุณบุณยสิทธ์ิ โชควัฒนา ในวัย 18 ปี เมื่อครั้งเดินทางไปทำงานที่ บริษัทเคียวโกะ
ซึ่งตั้งอยู่บนถนนชินไซบาชิ ย่านการค้าสำคัญในเมืองโอซากา ประเทศญี่ปุ่น

ฉันสูง 183 เซนติเมตร บางทีอาจเป็นเพราะพ่อและพี่ชายของฉันเป็นคนตัวใหญ่ ฉันสูงขึ้นอย่าง รวดเร็วตั้งแต่อายุ 15 ปี สมัยนั้นคนไทยส่วนใหญ่จะตัวเล็ก ทุกคนจึงมักประหลาดใจกับส่วนสูงของฉัน ตอนเล่นบาสเกตบอลกับเพื่อนที่โรงเรียน ฉันก็มักได้อยู่ใต้แป้นและทำคะแนนบ่อยครั้ง

มีเรื่องตลกอีกเรื่อง ฉันมีเพื่อนร่วมชั้นชื่อ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เขาไปเรียนต่อที่อังกฤษ กลับมาเป็น กรรมการผู้จัดการธนาคารนครหลวงไทย (Siam City bank) ระยะหนึ่ง และเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง พาณิชย์ในช่วงปลายปี 1990 ช่วงที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการธนาคารพ่อของฉันเชิญเขาไปทานอาหารเย็น และฉันก็ร่วมรับประทานอาหารด้วย ระหว่างพูดคุยกันทำให้รู้และจํากันได้ว่าเป็นเพื่อนกันสมัยเรียน เป็นเรื่อง บังเอิญและดีใจที่ได้เจอกันอีกครั้ง

น้องชายของสม ชื่อ สมคิด เป็นคนเก่งด้านทฤษฎีการตลาด เขาได้เรียนกับศาสตราจารย์ฟิลิป คอตเลอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักในนามปรมาจารย์ด้านการตลาด ทีมหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์นในต่างประเทศ และยังได้เป็น ผู้ร่วมเขียนหนังสือกับอาจารย์ของเขา ศาสตราจารย์คอตเลอร์ได้กล่าวถึงชื่อเขาในบทความ “ประวัติของฉัน” ว่าเป็นหนึ่งในนักเรียนดีเด่นของเขา ในปีพ.ศ. 2556 หลังจากกลับจากสหรัฐอเมริกา เขาเป็นผู้ให้คำแนะนำ เกี่ยวกับธุรกิจโดยรวมในฐานะกรรมการอิสระของเครือสหพัฒน์

คุณสมคิดดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีสองครั้งในปี พ.ศ. 2544 – 2549 และ ปี พ.ศ. 2558 – 2563 รวมระยะเวลา 10 ปี เขายังเป็นผู้ชูธงนโยบายเศรษฐกิจและดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นเขาจึง เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่บริษัทญี่ปุ่นที่ขยายธุรกิจเข้ามาในประเทศไทย หลังจากลาออกจากรองนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว จึงได้เข้ามาเป็นประธานกรรมการของบริษัท Holding ในเครือสหพัฒน์

ฉันอยากจะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเพราะความเชื่อมโยงกับสมซึ่งเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียน แต่ ในความเป็นจริงการกลับมาพบกันกับสม และการเชิญคุณสมคิดมาร่วมงานกันนั้น ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกันเลย อย่างไรก็ตามฉันก็ประหลาดใจกับโชคชะตาในครั้งนี้อยู่ดี

ประธานเครือสหพัฒน์
หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho (My Personal History)
หนังสือพิมพ์ Nihon Keizai Shimbun (Nikkei Newspaper)

July 2021

Related

Lastest