INSIDE HISTORY เปิดประวัติคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา #ตอนที่ 1 : ร่วมอยู่ร่วมเจริญ

“สนับสนุนสังคมไทยด้วยของใช้ในชีวิตประจําวัน จาก “ความจริงใจ” ที่เรียนรู้จากองค์กรญี่ปุ่น”
ฉัน…..บุณยสิทธิ์ โชควัฒนา เป็นชาวไทยเชื้อสายจีนเกิดในประเทศไทย กําลังก้าวเข้าวัย 84 ปี เป็นประธานกลุ่มบริษัทเครือสหพัฒน์ในประเทศไทย

ธุรกิจของเครือสหพัฒน์เกี่ยวข้องกับสินค้าในชีวิตประจําวันของผู้คนอย่างมาก ธุรกิจของเราผลิตและจําหน่ายสินค้ามากกว่า 30,000 รายการ ตั้งแต่ผงซักฟอก ยาสีฟัน เครื่องสําอางไปจนถึงบะหมี่กึ่งสําเร็จรูป เครื่องดื่ม และเสื้อผ้า ดังนั้น ไม่เป็นการกล่าวเกินจริงเลยว่า ทุกครัวเรือนในเมืองไทยจะมีสินค้าของเครือสหพัฒน์อย่างน้อย 3 หรือ 4 ชิ้น

บริษัทในเครือฯ กว่า 300 บริษัท ดำเนินธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ รวมถึงการบริหารและ พัฒนาสวนอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ การค้าปลีก ธุรกิจร้านอาหาร ซึ่งยอดขายรวมทั้งหมดของเครือฯ ยังไม่มี การเปิดเผยตัวเลข แต่ยอดขายรวมของปี 2563 เฉพาะ 18 บริษัทที่จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ไทย ในปีพ.ศ. 2563 มีมูลค่ามากกว่า 1.026 แสนล้านบาท (ประมาณ 360,000 ล้านเยน)

ดร.เทียม โชควัฒนา
ผู้ก่อตั้งและวางรากฐานกิจการในเครือสหพัฒน์
ภาพสมาชิกร้าน “เสียบเข่งเชียง”

ในจํานวน 300 บริษัทในเครือฯ ประมาณ 80 บริษัท เป็นบริษัทร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นในหลากหลาย ธุรกิจ เช่น Lion, Wacoal, Kewpie, Gunze, S.T. Corp., Otsuka Pharmaceutical, Lawson ฯลฯ ซึ่งฉัน ไม่คิดว่าจะมีบริษัทใดในโลกที่ทำการร่วมทุนกับญี่ปุ่นมากเท่าเรา

ประมาณปี พ.ศ. 2499 เป็นปีที่เริ่มสร้างความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับบริษัทญี่ปุ่น ขณะนั้นฉันเริ่มรู้ ภาษาญี่ปุ่นพอสมควรหลังจากที่ฉันถูกส่งไปอยู่โอซาก้า ในฐานะคนซื้อสินค้าให้บริษัท เป็นเวลากว่าสองปี ฉันจึงได้เป็นล่ามให้คุณพ่อที่บินมาจากไทยเพื่อมาเยี่ยมชมโรงงาน Yoshida Kogyo (ปัจจุบัน คือ YKK) ในจังหวัดโทยามะ ประเทศญี่ปุ่น

ขณะนั้น กางเกงเริ่มเป็นที่นิยมในประเทศไทย คุณพ่อของฉันเห็นว่า หากสั่งซื้อซิปเข้าไปจํานวน มาก จะต้องขายได้อย่างแน่นอน จึงได้เจรจาธุรกิจกัน เมื่อจบการเจรจาทางธุรกิจ ผู้ก่อตั้ง YKK ประธาน Tadao Yoshida พาพวกเราไปที่เรียวกังซึ่งเป็นโรงแรมแบบญี่ปุ่นในบริเวณใกล้เคียง หลังจากแช่ตัวในบ่อน้ำพุร้อน ขณะที่พวกเขาดื่มสาเกในชุดยูกาตะและเพลิดเพลินกับอาหารทะเล ประธานโยชิดะพูดให้ฉันฟังว่า

คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
ในวัยหนุ่ม ณ ประเทศญี่ปุ่น

“ในการทําธุรกิจ ไม่ควรคิดมากว่าฝั่งไหนจะได้กำไรเท่าไหร่ หากคุณผลักน้ำให้ไหลออกไป มันก็จะ ไหลไปรอบ ๆ และในที่สุดน้ำจะไหลกลับมาหาเรา นั่นล่ะคือกำไร”

“การไหลเวียนของความดี” เป็นปณิธานของบริษัท YKK มาจนทุกวันนี้ นั่นคือความเจริญรุ่งเรือง จะไม่เกิดกับท่าน หากท่านไม่ให้กำไรกับผู้อื่น ตัวฉันขณะนั้นในวัย 20 ปี ยังคงจำคำพูดนั้นได้ดี หลังจากนั้น YKK ได้ร่วมทุนทำธุรกิจการผลิตในประเทศไทยกับบริษัทที่น้องชายคุณแม่แตกแขนงออกจากเครือสหพัฒน์ และยังคงดำเนินธุรกิจต่อมาจนถึงทุกวันนี้

“ความจริงใจ และ ความไว้วางใจต้องมาก่อน” เป็นสิ่งที่ฉันได้เรียนรู้จากบริษัทญี่ปุ่น ซึ่งได้กลายเป็น นโยบายทางธุรกิจของฉันจนถึงทุกวันนี้ ไม่คิดว่าจะต้องทำกำไรทันที ฉันร่วมลำบากกับพันธมิตรที่ร่วมทุนด้วยกัน ไม่ได้มองว่าสินค้านี้ไม่ทำกำไรแล้วจะไม่ลงทุน หากเห็นว่าสินค้านี้เป็นสินค้าที่ดี มีอนาคต แม้ลำบากก็จะทำ นั่นคือ สิ่งที่คุณพ่อของฉัน ผู้สร้างบริษัทในเครือสหพัฒน์ รวมถึงตัวฉันที่รับช่วงต่อมา ยึดถือเป็น คติประจําใจในการทำงาน

ต่อมาไม่นาน ฉันก็ได้รับการขนานนามว่า “ราชาสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย” เหมือนที่คุณพ่อ เคยได้รับ บ้างก็ขนานนามฉันว่า “สะพานเชื่อมธุรกิจของไทยและญี่ปุ่น” แม้จะรู้สึกเกินตัวแต่ไม่นานก็รู้สึก ภูมิใจกับฉายานี้

ด้วยประสบการณ์การทำธุรกิจร่วมกับญี่ปุ่น ในยุคที่ทั้งประเทศไทยและญี่ปุ่นต่างได้รับความเสียหายจากสงคราม หากเส้นทางตลอดครึ่งชีวิตของฉันสามารถถ่ายทอดเส้นทางของความร่วมมือจนเกิดเป็นความสําเร็จ และก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองนี้ได้คงจะเป็นการดีไม่น้อย

ประธานเครือสหพัฒน์


หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์คุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา
ในคอลัมน์ Watashi no Rirekisho (My Personal History)
หนังสือพิมพ์ Nihon Keizai Shimbun (Nikkei Newspaper)
July 2021

Related

Lastest