นศ.กายอุปกรณ์ ช่วยเหลือผู้พิการ คว้ารางวัลชนะเลิศ ผู้รอด “Best Survivor Award” แห่งปี คว้า 100,000 จากมูลนิธิเอสซีจี

เพราะโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เราจึงต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัวให้ทัน และให้ “อยู่รอด”  มูลนิธิเอสซีจี จึงได้ร่วมกับ บริษัท วู้ดดี้ เวิลด์ Best Survivor Awards จัดแคมเปญ Gen Will Survive และกิจกรรม Best Survivor Awards เฟ้นหาสุดยอดคนรุ่นใหม่ที่มี Hard skill และ Soft skill ในการเอาตัวรอด และเรื่องราวของเขาสามารถเป็นแรงบันดาลใจที่จะส่งต่อให้กับทุกๆ คนได้

Best Survivor Awards ได้รับการตอบรับอย่างเกินคาด เพราะเป็นครั้งแรกที่เปิดให้คน Gen Z ได้เปิดอกแชร์เรื่องราวของตนเองสู่สาธารณะ มีผู้สนใจส่งผลงานเข้าร่วมเกือบ 500 คน และมีคณะกรรมการาคัดเลือกอย่างเข้มข้น  นำโดย ผศ.ดร.วิรุจ กิจนันทวิวัฒน์ ประธานสาขาวิชาธุรกิจและอาชีวศึกษา ภาควิชานโยบายการจัดการ และความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมด้วย ณัฏฐ์อาภา ผ่องทิพาภรณ์ ผู้สื่อข่าวและ Content Creator สำนักข่าวสปริงนิวส์ รวมถึง เอแคลร์ จือปาก และ MonsterFon  ร่วมกันพิจารณาตัดสินรางวัล Best Survivor Awards โดยพิจารณาจากเรื่องราวน่าประทับใจ และเป็นแบบอย่างที่ดี มีความตรงโจทย์ ชัดเจน น่าสนใจ และแสดงให้เห็นถึงการนำทักษะ ทั้ง Hard skill และ Soft skill มาปรับใช้ให้ชีวิตดีขึ้น  

สำหรับผลการตัดสินรางวัล Best Survivor Awards ครั้งแรกของประเทศไทยนั้น  ผู้ชนะเลิศ คือ นายสุรพรชัย ธรรมศิริ นักศึกษาสาขากายอุปกรณ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 100,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่  นางสาวเพ็ญนภา สิงห์สนั่น คณะครุศาสตร์ สาขาวิชาภาษาไทย มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท เอสซีจี และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ นางสาวอรนรินทร์ ศิริปุลินพงศ์ ชั้นปี 3 คณะบริหารธุรกิจ สาขาการจัดการและการเป็นผู้ประกอบการนวัตกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบัง  ได้รับรับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท นอกจากนี้ยังมีรางวัลชมเชยอีก 5 รางวัล รับเงินรางวัลละ 3,000 บาทพร้อมประกาศนียบัตรจากมูลนิธิเอสซีจี

ผศ.ดร.วิรุจ กิจนันทวิวัฒน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการตัดสิน กล่าวว่า “ชิ้นงานที่ส่งเข้ามา ต่างมีจุดเด่นที่ดีและแตกต่างกัน แสดงให้เห็นถึงการใช้ทักษะในการเอาตัวรอดในศตวรรษนี้ดีมากๆ ทำให้ตัดสินได้ยาก แต่เมื่อพิจารณาจากเกณฑ์การตัดสิน เราพบว่าผู้ที่ได้รางวัลชนะเลิศ เขามีแรงบันดาลใจที่ดี มีการตั้งเป้าหมายในชีวิต และมีการลงมือทำที่แม้ว่าระหว่างทางจะมีอุปสรรคปัญหาแต่ก็ไม่ได้ย่อท้อ นอกจากนี้สิ่งที่เขาทำ ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเพียงฝ่ายเดียว แต่ยังทำเพื่อผู้อื่น และก็ไม่ได้ทำในช่วงเวลาสั้นๆ แต่ทำมาตั้งแต่เป็นนักเรียน  และเป็นแรงบันดาลใจให้ต่อยอดมาจนถึงเป็นนักศึกษา เรื่องราวของผู้ชนะ เหมาะสมที่จะส่งต่อให้ผู้อื่นได้มีโอกาส มีกำลังใจ ลงมือทำโดยไม่ย่อท้อเพื่อให้ประสบความสำเร็จได้”

ด้านนายสุรพรชัย ธรรมศิริ ผู้คว้ารางวัลชนะเลิศ Best Survival Awards กล่าวว่า “ตนเองมีความมุ่งมั่นอยากช่วยเหลือคนอื่นโดยเฉพาะคนพิการ เมื่อมีโอกาสได้พบกับเด็กออทิสติกที่กล้ามเนื้อบริเวณข้อมือมีปัญหา ไม่สามารถจับดินสอเหมือนเด็กคนอื่นได้  จึงได้นำความสนใจที่มีอยู่ ผนวกเข้ากับปัญหาที่พบมา เพื่อจะแก้ปัญหาตรงนี้จนกลายเป็นบอร์ดฝึกเขียนสำหรับเด็กออทิสติกที่จะช่วยให้เด็กออทิสติกสามารถเรียนรู้ร่วมกับเด็กปกติได้”

“สุรพรชัย” เล่าเรื่องราวด้วยการเปรียบชีวิตตนเองกับรองเท้าบูต โดยรองเท้าบูตข้างแรกคือการรู้จักตัวเอง ที่จะต้องมีสติพร้อมเผชิญกับสิ่งที่ต้องพบเจอและพร้อมที่จะปรับตัวกับสิ่งที่จะพบเจอในอนาคตเพื่อให้อยู่รอดได้ ซึ่งในวันนี้เขาได้ค้นพบตัวเองเจอแล้ว จากความชอบความสนใจที่มีอยู่ มาลงตัวที่สาขาที่เลือกเรียนในปัจจุบันที่เกี่ยวกับการผลิตแขนขาเทียมเพื่อผู้พิการที่จะสานต่อความชอบและความฝันของเขาให้เป็นจริงในอนาคต  สำหรับรองเท้าบูตอีกข้าง คือ การวางแผนเพื่ออนาคต ซึ่งเป้าหมายของ “สุรพรชัย” คือการได้มีโอกาสไปเรียนต่อด้านกายอุปกรณ์ที่ญี่ปุ่นเพื่อนำเทคนิคต่างๆ มาพัฒนาต่อ เพื่อจะทำให้คุณภาพชีวิตของคนพิการดีขึ้น

“การรู้จักตัวเอง รู้ความชอบ ความถนัดของตัวเอง เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบ 100% เราจะมีความสุขในการทำงาน ต้องถามตัวเองว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้ เพราะคนอื่นต้องการ คนรอบข้างต้องการ หรือเราต้องการให้เป็นแบบนี้จริงๆ เราลองลดความคาดหวังและเอาความคาดหวังมาเป็นแรงผลักดันให้ตัวเองได้ทำในสิ่งที่ต้องการจริงๆ ดีกว่า” นายสุรพรชัยกล่าวสรุป

สำหรับผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศทั้งสองคน นางสาวเพ็ญนภา สิงห์สนั่น และ นางสาวอรนรินทร์ ศิริปุลินพงศ์ ก็ไม่ได้ต่างกันตรงที่ไม่เคยปฏิเสธการเรียนรู้ สิ่งใหม่ๆ รวมถึงการมองหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้น และยังมีความมุมานะพยายาม สามารถนำความชอบ มาสู่อาชีพได้ และปรับตัว ให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนต่างมีรายได้เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ ตั้งแต่ยังไม่จบการศึกษา โดย “เพ็ญนภา” ที่เริ่มจากการขายของออนไลน์ก่อนจะผันตัวมาเป็นนักออกแบบกราฟฟิก และ “อรนรินทร์” ที่ไปได้ดีจากการไลฟ์ขายของออนไลน์จนสามารถทำรายได้หลักแสน ก่อนจะมีความฝันที่อยากเป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าที่ตั้งเป้าว่าแบรนด์ของเธอจะเป็นแบรนด์ในใจของทุกคน

โลกปัจจุบันที่มีความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา  คนที่ปรับตัวได้เร็ว และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงนั้นได้เท่านั้น ที่จะ “อยู่รอด” ได้ในโลกใบนี้  มูลนิธิเอสซีจีจึงได้ให้ความสำคัญกับการเรียนรูเพื่ออยู่รอด “Learn to Earn” และการพัฒนาทักษะเพื่อเป็นอาวุธให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ พร้อมออกไปใช้ชีวิตให้อยู่รอดได้ เลี้ยงดูตนเองได้ ดูแลครอบครัวได้ และพร้อมส่งต่อโอกาสให้กับคนอื่นๆ ในสังคมต่อไป

สามารถติดตามความคืบหน้า และติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิเอสซีจี ได้ที่ www.scgfoundation.org  และ   เฟซบุ๊ก LEARNtoEARN และ Tiktok LEARNtoEARN

Related

Lastest